พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชทานตราสัญลักษณ์

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา

5 ธันวาคม 2550 กรมศิลปากร เผย

ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้แก้ 3 ครั้ง

และรับสั่งให้เขียนดอกพิกุลเพิ่มเติม

พร้อมแนะแนวปฏิบัติการขอใช้ตราสัญลักษณ

ต้องแจ้งสำนักราชเลขาธิการเพื่อพิจารณาก่อน

วันนี้ (17 ม.ค.) เวลา 15.30 น.ที่หอประชุมกรมศิลปากร ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดย นายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงการดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์ ว่า หลังจากกรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ก็ได้มอบหมายได้ให้คณะช่าง 10 หมู่ จำนวน 5 คนดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์โดยได้แบบมาทั้งหมดจำนวน 12 ผลงาน จากนั้นได้พิจารณาคัดเลือกแบบที่ 12 ซึ่งเป็นผลงานของนายสุเมธ พุฒพวง และได้เสนอผ่านสำนักราชเลขาธิการ เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัย
       
       ทั้งนี้ เมื่อนำแบบตราสัญลักษณ์ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับแก้ถึง 3 ครั้ง กว่าจะได้เป็นแบบตราสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งแสดงออกถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ทางด้านงานจิตรกรรม

ด้าน นายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ 7 กลุ่มงานศิลปประยุกต์ กลุ่มจิตรกรรมศิลปประยุกต์และลายรดน้ำ ผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ 80 พรรษาฯ กล่าวถึงแนวความคิดในการออกแบบ ว่า ภาพที่ปรากฏในตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 80 พรรษา ได้ใช้พระราชลัญจกรรัชกาลที่ 9 แทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยมีพระมหาพิชัยมงกุฎ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร 9 ชั้นไว้ด้านบนสุด และพระเศวตฉัตร 7 ชั้น หมายถึงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ เลขไทย 80 ที่อยู่ด้านล่างและเพชร 80 เม็ดที่อยู่รอบๆ ตราสัญลักษณ์ หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา แพรแถบสีชมพู บอกชื่อตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
       
       นายสุเมธ ให้เหตุผลถึงการใช้แพรแถบสีชมพูว่าเนื่องมาจากว่า สีชมพูเป็นสีประจำอายุตามหลักโหราศาสตร์ไทย หมายถึง การมีสุขภาพและพลานามัยที่สมบูรณ์ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้เขียนดอกพิกุลเพิ่มเติมที่แท่นแปดเหลี่ยมรองรับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ที่มีความถึงความอุดมสมบูรณ์ เหตุผลที่ตนเขียนดอกพิกุล 9 ดอก ซึ่งประกอบด้วย ดอกพิกุลเงิน 4 ดอก และพิกุลทอง 5 ดอก นั้นหมายถึงว่า รัชกาลที่ 9 โดยในวันพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรยเงินและทอง ให้แก่พราหมณ์ และพระบรมวงศานุวงศ์